โครงการสัมมนาทางวิชาการเพื่อรับฟังความคิดเห็นในการประเมินผลสัมฤทธิ์พระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๕๘ และปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “การทบทวนความเหมาะสมต่อการบังคับใช้พระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๕๘ ในปัจจุบัน”

            ในวันอังคารที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๖๖ เวลา ๐๘.๓๐ น. นายวัลลภ นาคบัว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการสัมมนาทางวิชาการเพื่อรับฟังความคิดเห็นในการประเมินผลสัมฤทธิ์พระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๕๘ และปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “การทบทวนความเหมาะสมต่อการบังคับใช้พระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๕๘ ในปัจจุบัน” โดยมีนายธวัชชัย ไทยเขียว อดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรม ให้เกียรติเป็นวิทยากร สำหรับผู้เข้าร่วมฯ ประกอบด้วย พันตำรวจโท เชน กาญจนาปัจจ์ รองผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และผู้แทนจากหน่วยงานภายนอกที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับการบังคับใช้พระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๕๘ รวมทั้งหน่วยงานที่ปฏิบัติตามและบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายและเจ้าหน้าที่ รวมจำนวน ๑๘๐ คน เข้าร่วม ณ ห้องดอนเมือง ๑ - ๒ โรงแรมอมารีดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพมหานคร

             สำหรับโครงการสัมมนาครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อให้เกิดการทบทวนความเหมาะสมต่อการบังคับใช้พระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๕๘ ในปัจจุบัน และเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการหรือแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการปฏิบัติงานเพื่อประโยชน์ในการประเมินผลสัมฤทธิ์พระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๕๘ ให้สามารถดําเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ

             ในการนี้ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้กล่าวใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า พระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๕๘ เป็นกลไกสำคัญในการให้ความช่วยเหลือประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ได้อย่างทั่วถึง เสมอภาค และเป็นธรรม ซึ่งการจัดโครงการประเมินผลสัมฤทธิ์ของพระราชบัญญัติในครั้งนี้ จำเป็นต้องวิเคราะห์เนื้อหาสาระของกฎหมายและรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง อย่างครอบคลุมและรอบคอบ เพื่อประเมินว่าการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวเป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการตราพระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๕๘ หรือไม่ มีความคุ้มค่าสําหรับภาครัฐและประชาชน หรือมีผลกระทบอื่นอันก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่ประชาชนหรือไม่ จึงขอให้ทุกท่าน ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ความรู้ทางวิชาการ หรือประสบการณ์ในการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับกองทุนยุติธรรม เพื่อจะนําไปสู่การพิจารณาแก้ไขหรือปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและบรรลุวัตถุประสงค์ของการมีกฎหมายดังกล่าวต่อไป