ประวัติ กองทุนยุติธรรม

ความเป็นมา

ในอดีตที่ผ่านมา การเข้าถึงความยุติธรรมของประชาชนเป็นเรื่องยาก เพราะ

การไม่มีความรู้ ไม่เข้าใจบทบัญญัติของกฎหมาย และสิทธิเสรีภาพที่พึงมีพึงได้โดยชอบธรรม ทำให้ประชาชนถูกเอารัด
เอาเปรียบและถูกล่วงละเมิดจากบุคคลที่อยู่ในภาวะที่เหนือกว่า

ความยากจนเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงความยุติธรรม เพราะกระบวนการดำเนินคดีมีค่าใช้จ่ายสูง

เพื่อลดช่องว่างและลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ในการช่วยเหลือผู้ยากไร้ คนยากจน ให้เข้าถึงความยุติธรรมกระทรวงยุติธรรม จึงได้จัดตั้ง "กองทุนยุติธรรม" ขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2549 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การสนับสนุนเงินค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือประชาชนในด้านกฎหมาย การฟ้องร้อง การดำเนินคดี หรือการบังคับคดี การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยมีการออกระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยกองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2553 ขึ้น

ข้อจำกัดของระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยกองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2553 มีหลายประการ เช่น การไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคลที่จะทำนิติกรรมสัญญาที่สมบูรณ์ รายได้มาจากงบประมาณของรัฐเพียงอย่างเดียว วัตถุประสงค์ค่อนข้างจำกัด ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล

จึงได้พัฒนายกระดับระเบียบกระทรวงยุติธรรม เป็น พระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2558 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 และมีผลบังคับใช้วันที่ 24 เมษายน 2559 ซึ่งพระราชบัญญัตินี้ครอบคลุมการช่วยเหลือมากขึ้น และเกิดความคล่องตัวในการดำเนินงาน

พระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2558

มาตรา 5 ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งในสำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม เรียกว่า “กองทุนยุติธรรม” มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับใช้จ่ายเกี่ยวกับการช่วยเหลือประชาชนในการดำเนินคดี การขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย การถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนและการให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชน

มาตรา 9 เงินกองทุนให้ใช้จ่ายเพื่อกิจการ ดังต่อไปนี้

(1) การช่วยเหลือประชาชนในการดำเนินคดี

(2) การขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย

(3) การช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน

(4) การให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชน

(5) การดำเนินงานกองทุนหรือการบริหารกองทุน และกิจการอื่นที่เกี่ยวกับหรือเกี่ยวเนื่องกับการจัดกิจการของกองทุน

มาตรา 11 ให้จัดตั้งสำนักงานกองทุนยุติธรรมขึ้นในสำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม ทำหน้าที่เกี่ยวกับงานธุรการให้กับกองทุน คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ คณะทำงาน หรือบุคคลที่คณะกรรมการแต่งตั้งตามพระราชบัญญัตินี้ รวมทั้งให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(1) รับคำขอรับความช่วยเหลือตามพระราชบัญญัตินี้

(2) เสนอความเห็นประกอบคำขอตาม (1) เพื่อเสนอให้คณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องพิจารณา

(3) ประสานงานและร่วมมือกับส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และหน่วยงานเอกชน ในการดำเนินงานของกองทุน

(4) รับเงิน จ่ายเงิน และเก็บรักษาเงินของกองทุนตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด โดยความเห็นชอบของ
กระทรวงการคลัง

(5) พัฒนาระบบ รูปแบบ วิธีการ และการให้บริการของกองทุน เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของกองทุน

(6) เก็บ รวบรวม วิเคราะห์ และวิจัยข้อมูลเกี่ยวกับการสนับสนุนการดำเนินงานของกองทุน

(7) ปฏิบัติการอื่นหรือกระทำกิจการตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการ